TPM

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

แนวคิด และหลักการ

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีเครื่องจักรเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตมักจะประสบ ปัญหาในเรื่องของการผลิตไม่ได้ตามเป้าหมายโดยมีสาเหตุจาก การหยุดการผลิตบ่อยครั้งเนื่องจากเครื่องจักรขัดข้อง/เสียหาย เครื่องจักรทำงานไม่เต็มสมรรถนะ และ สินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพต่ำ เป็นต้น ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันขององค์กร การที่จะดูแลรักษาเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีอย่างสม่ำเสมอ นั้น การบริหารจัดการตามแนวทางของ TPM จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยส่งเสริมให้พนักงานทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วม (Total Participation) ในการบำรุงรักษาและปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิผลโดยรวมสูงสุด (Maximizing Overall Equipment Effectiveness  :  OEE) โดยการมุ่งเน้นกำจัดความสูญเสีย (Losses) ในการผลิต โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานที่ชัดเจนและสามารถวัดผลสำเร็จได้อย่างเป็น รูปธรรมแนวคิดเรื่องการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน  (Preventive Maintenance : PM)

ที่มาของ TPM เริ่มจากแนวคิดเรื่อง การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (PM) ต้องการป้องกันการหยุดของอุปกรณ์เป็นหลัก หลังจากนั้นก็ขยายแนวคิดให้ครอบคลุมถึงการป้องกันคุณภาพสินค้าตกต่ำลงที่มีสาเหตุจากการเสื่อมหรือข้อบกพร่องของอุปกรณ์ ทั้งหมดนี้อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายบำรุงรักษาหลังจากนั้นไม่นานกลับพบว่าการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ขณะเวลาต่างๆนั้นมักเกิดปัญหาที่เหนือความคาดหมายของฝ่ายบำรุงรักษา และบุคคลากรที่อยู่หน้างานหรือผู้ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ย่อมรู้ดีที่สุด เพราะเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นแนวคิดใหม่จึงเกิดขึ้นว่า ผู้ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์จะเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาให้ข้อมูลแก่ฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาในการซ่อมแซมและเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ เพื่อให้เครื่องจักรอุปกรณ์มีคุณภาพสูงขึ้น จากนั้นแนวคิดได้เพิ่มขยายถึงลักษณะทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม จากการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิตนั้นด้วย โดยคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ล่วงหน้า (Proactive Solution) แล้วให้ฝ่ายบำรุงรักษาทำงานร่วมกับฝ่ายผลิต ฝ่ายวางแผน ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบัญชี และฝ่ายอื่น ๆ ทั่วทั้งองค์กร โดยเน้นคำว่าโดยรวมเป็น TPM (Total Productive Maintenance)
กิจกรรม TPM กับสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
                ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารความปลอดภัยกับกิจกรรม TPM แสดงให้เห็นในภาพเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มสมรรถนะขององค์การดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว ซึ่งสมรรถนะขององค์การจะประกอบไปด้วย การเพิ่มผลผลิต การควบคุมคุณภาพ การควบคุมต้นทุน การส่งมอบตรงเวลา สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงขวัญและกำลังใจของพนักงานโดยกิจกรรม TPM กับการบริหารความปลอดภัยจะช่วยในการบริหารเครื่องจักร อุปกรณ์ และโรงงาน เพื่อช่วยควบคุม สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย  ปัญหาของกิจกรรม TPM กับการบริหารความปลอดภัย คือ ทำอย่างไรให้การทำงานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยการปรับปรุงอุปกรณ์และเงื่อนไขในการทำงานทุกคนควรจะทำงานโดยระลึกอยู่เสมอว่า อุบัติเหตุและมลพิษเป็นศูนย์ เพราะว่าใน การทำงานมีโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ตลอดเวลา ส่วนการใช้เครื่องจักรได้ไม่เต็ม ประสิทธิภาพนั้นก็มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วยขั้นตอนการบริหารความปลอดภัยในกิจกรรม TPM นั้น ประกอบด้วยขั้นตอนความ ปลอดภัยในการบำรุงรักษาด้วยตนเอง ความปลอดภัยในการบำรุงรักษาตามแผน และความปลอดภัยในการป้องกันการบำรุงรักษา ดังแสดงในภาพที่ 2 ข้างล่างนี้
ภาพที่ 2   แสดงกิจกรรม TPM กับการบริหารความปลอดภัย

หน่วยงานที่ไม่ได้ทำการผลิตโดยตรง เช่น ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายจัดซื้อ ควรจะให้การสนับสนุนงานในส่วนของการผลิตให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยการนำแนวคิดกิจกรรม TPM มาประยุกต์ใช้ในงานเพื่อลดความสูญเสียในงานสำนักงาน   กิจกรรม  TPM ในสำนักงาน ต้องดำเนินอยู่บนพื้นฐานของ 5 เสาหลัก ได้แก่ การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง การบำรุงรักษาด้วยตนเอง การศึกษาและฝึกอบรม การจัดทำระบบการ มอบหมายงาน และการจัดทำระบบประเมินผลงานกิจกรรม TPM ในสำนักงาน ต้องมีการกำหนดหน่วยวัด ดัชนีวัดความสำเร็จ และค่า มาตรฐานที่ยอมรับได้ เพื่อใช้ในการติดตามความคืบหน้าของการปรับปรุงงานในสำนักงาน
แนวคิดและความสำคัญของกิจกรรม TPM ในสำนักงาน

                1. บทบาทของงานบริหารและงานสนับสนุน  หน่วยงานที่ไม่ได้ทำการผลิตโดยตรง เช่น ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายจัดซื้อ ก็มีบทบาทสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายผลิต เช่นการประสานงานต่างๆ การจัดเตรียมงานเอกสาร การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งถ้างานบริหารและงานสนับสนุนต่างๆ กระทำด้วยความล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพหรืออาจกล่าวได้ว่าเกิดความสูญเสียนั่นเอง ก็จะทำให้ฝ่ายผลิตซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างรายได้เข้าสู่บริษัทไม่สามารถทำงานได้ด้วยความราบรื่นนอกจากนั้น งานสำนักงานต่างๆ ยังต้องมีหน้าที่ในการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตของตนเอง ลดต้นทุนตามกลยุทธ์หรือนโยบายในการแข่งขันของบริษัทกิจกรรม  TPM   ในสำนักงานจะช่วยให้การทำงานบริหารและงานสนับสนุนของหน่วยงานที่ไม่ได้ทำการผลิตโดยตรงบรรลุตามบทบาทดังกล่าว เนื่องจากการปรับปรุงกิจกรรมในสำนักงานมี   วัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
ช่วยให้การทำกิจกรรม TPM ในส่วนการผลิตของพนักงานกลุ่มต่างๆ ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
ลดความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงานสำนักงาน
                2. การเพิ่มผลผลิตในสำนักงาน การเพิ่มผลผลิตในสำนักงาน คือ การเพิ่มผลงาน (การปรับปรุงคุณภาพและการบริหาร) และการลดปัจจัยที่ใช้ในการทำงาน (ลดความสูญเสียและความสิ้นเปลือง) ซึ่งการเพิ่มผลงานประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพการตัดสินใจ การปรับปรุงการทำงาน การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท และการปรับปรุงสถานที่ทำงาน สำหรับการลดปัจจัยการทำงานสามารถทำได้โดยการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้คุ้มค่า เช่น ลดค่าใช้จ่ายในสำนักงาน ลดจำนวนแรงงาน ทำงานให้ง่ายขึ้น และปรับปรุงคุณภาพของการประสานงาน ภาพด้านล่างแสดงโครงสร้างของการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตในสำนักงาน
ภาพที่ 3   แสดงการเพิ่มผลผลิตในสำนักงาน
3. ความสูญเสียในสำนักงาน ความสูญเสียในการทำงาน (Waste) ประกอบไปด้วย ความสูญเสียจากกระบวนการตัดสินใจ ความสูญเสียจากการประสานงาน และความสูญเสียจากการทำเอกสารและการประมวลผลข้อมูล ดังแสดงในภาพที่ 4 ข้างล่างนี้
ภาพที่ 4   แสดงความสูญเสียในสำนักงาน
แนวคิดและความสำคัญของการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ

                1. การประกันคุณภาพกับการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ การประกันคุณภาพ (Quality Assurance) หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่กระทำเพื่อความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะต้องมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยกระบวนการคุณภาพเริ่มตั้งแต่การออกแบบมาจนถึงการคัดเลือกปัจจัยในการผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต และการป้องกันไม่ให้ชิ้นงานที่ไม่มีคุณภาพหลุดไปถึงมือลูกค้าการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ คือ การประกันคุณภาพในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบหรือการเลือกซื้อ การบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ผลิตชิ้นงานได้อย่างมีคุณภาพตลอดเวลา โดยการหาความสัมพันธ์ของคุณลักษณะทางคุณภาพกับ ความแม่นยำของเครื่องจักรและอุปกรณ์ ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะทางคุณภาพกับเงื่อนไขต่างๆ ในการตั้งเครื่องจักร ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะทางคุณภาพกับวิธีการทำงาน โดยความสัมพันธ์ทั้งหลายดังกล่าวนั้นกำหนดขึ้นมาเพื่อหาทางควบคุมต่อไป

                2. ความหมายของการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ การบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ คือ การประกันคุณภาพในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อความมั่นใจในคุณภาพที่เกิดจากการบำรุงรักษาเครื่องจักร  เงื่อนไขต่างๆของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่จะไม่ทำให้เกิดของเสีย ป้องกันปัญหาทางด้านคุณภาพด้วยการควบคุมเงื่อนไขที่จะไม่ทำให้เกิดของเสีย ตรวจวัดความเบี่ยงเบนของเงื่อนไขต่างๆเพื่อพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดของเสียและหาทางป้องกันล่วงหน้า
                ความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพ คือ การทำให้เครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือ อยู่ในสภาพที่ดี มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อม ทักษะ และวิธีการทำงาน ที่ต้องเอื้ออำนวยต่อการเกิดคุณภาพ และเพื่อให้บรรลุความจำเป็นขั้นพื้นฐานดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มวัตถุประสงค์ในการมุ่งมั่นไม่ให้เกิดของเสียเข้าไปใน 5 เสาหลักของ กิจกรรม TPM อันประกอบไปด้วย การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง การบำรุงรักษาด้วยตนเอง การบำรุงรักษาตามแผน การคำนึงถึงการบำรุงรักษาตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา ตามภาพ
ภาพที่ 5   แสดงการบำรุงรักษาเพื่อคุณภาพกับ 5 เสาหลักของกิจกรรม TPM
                ในภาพจะเห็นได้ว่า การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง จะเพิ่มเติมเรื่องของการปรับปรุงและการแก้ปัญหาทางด้านคุณภาพเข้าไปด้วย ในขณะที่ การบำรุงรักษาด้วยตนเอง จะเพิ่มเติมทักษะในเรื่องของการสังเกตและแก้ไขปัญหาทางด้านคุณภาพเข้าไป ในส่วนของ การบำรุงรักษาตามแผน จะเพิ่มเรื่องของการตรวจสอบเงื่อนไขทางด้านคุณภาพเข้าไปในแผนการบำรุงรักษาตามคาบเวลา เพื่อเป็นการติดตามความเบี่ยงแบนของเงื่อนไขต่างๆ ว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ สำหรับการ คำนึงถึงการบำรุงรักษาตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ จำเป็นที่จะต้องสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่คิดว่า จะทำให้เกิดการผลิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งการออกแบบเครื่องจักรและการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมีเสาหลักที่ 5 คือ การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา เป็นกลไกในการสร้างจิตสำนึกและทักษะในการจัดการกับปัญหาทางด้านคุณภาพ





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก